วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2558

หนังตะลุงในอนาคต

       

           จากการสัมภาษณ์อาจารย์สงวนศิลป์ คณะหนังตะลุงสงวนศิลป์ กทม. พบว่าในภาคใต้หนังตะลุง ยังคงเป็นศิลปะพื้นเมืองที่สำคัญและเป็นที่นิยมอยู่ และคงแสดงให้ชมอยู่อย่างต่อเนื่อง  ส่วนในภาคต่างๆ ของประเทศไทยอาจจะหาชมได้ยากขึ้น เนื่องจากกระแสโลกาภิวัตน์ทำให้คณะหนังตะลุงลดน้อยลง


รูปแบบการแสดงในอนาคต
• รูปหนังตะลุงจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตและค่านิยมของคนสมัยใหม่
• อาจมีการเปลี่ยนแปลงจากการแสดงกลางแจ้งเป็นการแสดงในโรงละคร
• อาจมีการใช้เสียงประกอบการแสดงจำพวกเอฟเฟ็กต่างๆ ที่เสมือนจริง
   เพื่อทำให้หนังตะลุงดูน่าสนใจมากขึ้น
• การชมการแสดงหนังตะลุงในอนาคตนั้น อาจมีการเก็บค่าเข้าชมด้วยราคาสูงขึ้น



ความสัมพันธ์กับสังคมไทย
• ในอนาคตน่าจะมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับหนังตะลุง ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของหนังตะลุง นายหนังที่มีความสามารถ หรือภาพถ่ายและวิดีโอที่มีการกล่าวถึงหนังตะลุง
• อนาคตของหนังตะลุงน่าจะไม่สูญหายไป แต่อาจหาชมได้ยากยิ่งขึ้น
• อนาคตของหนังตะลุงจึงฝากความหวังไว้ที่เยาวชนในปัจจุบันจะร่วมกันสืบสานอนุรักษ์ศิลปะของไทยไว้ให้คนรุ่นหลังได้รับชมต่อไป

หนังตะลุงในปัจจุบัน


          ในปัจจุบันหนังตะลุงยังคงเป็นที่นิยมและถือเป็นศิลปะของภาคใต้ แต่มีความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน เพื่อให้เข้ากับค่านิยมหรือแนวความคิดของคนในปัจจุบัน




         ด้านของดนตรีที่ใช้แสดง เครื่องคนตรีของหนังตะลุงในอดีต อาจจะมีความเรียบง่ายและเป็นวัสดุที่ทำขึ้นเองได้ เช่น ทับ กลอง โหม่ง ฉิ่ง แต่ในยุคปัจจุบันเรารับเอาวัฒนธรรมสากลจากภายนอกโดยเฉพาะดนตรีไทยสากล หนังตะลุงจึงต้องเพิ่มเครื่องดนตรีใหม่ๆเข้ามาเสริม เช่น กลองชุด กีตาร์ ไวโอลิน หรือออร์แกนเพื่อให้ทันกับคนในยุคปัจจุบัน

รูปหนังตะลุงในปัจจุบัน


การแพร่กระจายของหนังตะลุงในประเทศไทย


          หนังตะลุงในภาคใต้ได้รับเอารูปแบบรูปหนังของชวาเข้ามา ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในทุกภาคของประเทศไทย โดยมีการปรับปรุงและดัดแปลงเพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของแต่ละถิ่น ภาคใต้ทำการแสดงหนังตะลุงครั้งแรกในจังหวัดพัทลุง แล้วจึงค่อยๆแพร่หลายไปยังที่อื่นๆในมณฑลนั้น เรียกว่า “หนังควน”  มีการแพร่กระจายไปยังภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสานด้วย  ในภาคกลางนั้นการเข้ามาของหนังตะลุงเกิดขึ้นโดย เจ้าพระยาสุรวงศ์ ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)

เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)

ผู้นำหนังตะลุงเข้ามาในกรุงเทพฯ และได้เล่นถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่บางปะอินเป็นที่แรกเมื่อปีชวด พ.ศ. 2419



          หนังตะลุงแพร่กระจายจากภาคใต้ไปยังภาคอีสาน โดยเป็นเรื่องของการติดต่อกันทางด้านวัฒนธรรมของชาวบ้านต่อชาวบ้าน  เรียกว่าหนังประโมทัย  หนังตะลุงจากภาคใต้แพร่กระจายไปยังภาคเหนือ นายหนังตะลุงเมืองเชียงใหม่ชื่อ นายต่อ วงศาโรจน์ นายต่ออายุราว 40 กว่า ซึ่งไปหัดการเล่นปี่พาทย์จากที่ใดไม่ได้มีการระบุไว้ การพากย์เป็นการพากย์แบบธรรมดา ไม่ได้ใช้ภาษาชาวเหนือ เล่นเรื่องรามเกียรติ์ มีตัวตลกแทรกบ้างว่าใช้ชื่อเหมือนคนเมือง

ตัวละครของหนังตะลุง

  

          ตัวละครหนังตะลุงหรือรูปหนังตะลุง เป็นอุปกรณ์สำคัญ ในการแสดงหนังตะลุง หนังคณะหนึ่ง ๆ ใช้รูปหนังประมาณ 150 - 200 ตัว มีการใช้ต้นแบบมาจากรูปหนังใหญ่ ซึ่งต้นแบบที่สำคัญคือจากรูปเรื่องรามเกียรติ์ ที่ฝาผนังรอบวัดพระแก้ว มาผสมผสานกับรูปหนังของชวา รูปหนังตะลุงแต่ละรูปไม่มีชื่อเฉพาะตัว (ยกเว้นตัวตลก) เวลาจะแสดงนายหนังจะเป็นผู้ตั้งชื่อของตัวหนังแต่ละตัวตามเรื่องที่จะเล่น


ฤาษี

          ฤาษีเป็นรูปครูที่มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์สามารถป้องปัดเสนียดจัญไร และภยันตรายทั้งปวงทั้งช่วยดลบันดาล
ให้หนังแสดงได้ดี เป็นที่ชื่นชมของคนดู

พระอิศวร

รูปพระอิศวร ถือเป็นรูปศักดิ์สิทธิ์ และเป็นเทพเจ้าแห่งความบันเทิง พระอิศวรจะทรงโคอุสุภราชหรือนนทิ

ยักษ์

ยักษ์เป็นตัวละครที่มีปรากฏในวรรณกรรมหนังตะลุงแทบทุกเรื่อง ยักษ์จะมีหลายสถานภาพอาศัยอยู่ในป่า หาสัตว์ป่าและผลไม้กินเป็นอาหาร ยักษ์มีรูปร่างใหญ่โตน่ากลัว มีเขี้ยวงอกโง้งมานอกปาก ถือไม้ตะบองเป็นอาวุธ ชอบระรานผู้อื่นและมีความโลภ อยากได้อะไรก็ต้องได้ โดยไม่คำนึง ถึงความถูกผิดหรือบาปกรรม ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ร้ายในเรื่อง

เจ้าเมือง - นางเมือง

เจ้าเมืองหรือพระราชา ส่วนมากจะเป็นพระบิดาของพระเอกหรือนางเอก ในบางเรื่องเจ้าเมืองมีบทบาทไม่มากนัก แต่บางเรื่องก็เป็นตัวสำคัญที่ทำให้ตัวเอกต้องเดินทางออกจากเมือง




            ในหนังตะลุงจะมี “ตัวตลกหนังตะลุง ” ซึ่งเป็นตัวละครที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง 
และมักจะอยู่ในความทรงจำของคนดู

หนังตะลุงในอดีต



            หนังตะลุงนั้น คำว่า “หนัง” มาจากการนำหนังวัวหรือหนังควาย มาตัดฉลุเป็นรูป ส่วนคำว่า “ตะลุง” เพี้ยนมาจากมาจากคำว่า “พัทลุง” ความหมายโดยรวมจึงแปลว่า รูปหนังตะลุงที่ทำจากหนังวัวหรือหนังควายซึ่งมีการเล่นหนังตะลุงในพัทลุง


          หนังตะลุงเป็นวัฒนธรรมที่เก่าแก่ของมนุษยชาติ เคยปรากฏแพร่หลายทั้งในแถบยุโรปและเอเชีย เริ่มต้นในแถบยุโรปโดยการจัดให้มีการแสดงหนัง ซึ่งเรียกว่ามหรสพเงา เพื่อการเฉลิมฉลองชัยชนะของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ในอียิปต์ การบูชาเทพเจ้าในอินเดีย หรือไม่ว่าจะเป็นการสดุดีเชื้อพระวงศ์ในจีน โดยเชื่อว่าหนังตะลุงมีแพร่หลายในอียิปต์มาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล





          หนังใหญ่เป็นต้นกำเนิดแรกเริ่มของหนังตะลุง ได้แบบมาจากประเทศอินเดีย หนังใหญ่ถือเป็นการแสดงในราชสำนักที่มีการเล่นกลางแจ้ง เรื่องที่ใช้เล่นหนังใหญ่จะเน้นเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใช้เชิดชูกษัตริย์และสรรเสริญพระเจ้าแผ่นดิน เชื่อกันว่าหนังตะลุงเลียนแบบมาจากหนังใหญ่โดยย่อรูปหนังให้เล็กลง และต่อมาหนังตะลุงก็ได้มีการลองเล่นในเนื้อเรื่องอื่นๆ เช่น นิทานชาดกหรือตำนาน




          หลังจากนั้นได้มีการเปลี่ยนบทพากย์มาเป็นภาษาท้องถิ่นของแต่ละถิ่น มีการเปลี่ยนเครื่องดนตรีจากพิณพาทย์ ตะโพน มาเป็น ทับ กลอง ฉิ่ง และโหม่ง ซึ่งเป็นดนตรีที่มีอยู่เดิมในภาคใต้






          ในเวลาต่อมา หนังตะลุงก็ได้รับอิทธิพลของหนังชวาเข้ามาผสมผสาน ทำให้เกิดวิวัฒนาการในการทำ “รูปหนัง” รูปหนังใหญ่จะเป็นแผ่นเดียวกันทั้งตัว เคลื่อนไหวอวัยวะไม่ได้ แต่รูปหนังชวาเคลื่อนไหวมือและปากได้